ลักษณะควายไทย


ลักษณะประจำพันธุ์ของควายไทย

 


           เกษตรกรส่วนใหญ่ระบุลักษณะความงามประจำพันธุ์ของควายไทยที่สอดคล้องกัน โดยมีลักษณะสำคัญซึ่งเป็นจุดสังเกต 5 แห่งด้วยกัน คือ ตรงใต้คอต้องเป็นบั้งสีขาว ต้องมีจุดแต้มบนใบหน้า มีข้อเท้าขาว มีอัณฑะและปลายลึงค์ที่ไม่หย่อนยาน หนังและขนมีสีเทา เทาดำหรือเทาแดง โดยมีรายละเอียด ดังนี้


1.1 บั้งคอสีขาว บางแห่งเรียกอ้องคอ หรือบ้องคอ ลักษณะขนและหนังบริเวณใต้คอเป็นสีขาวรูปตัววี (V) เหมือนแถบบั้งนายสิบ (Chevron) ซึ่งพาดขวางบริเวณใต้คอ(ภาพที่1) โดยมีความเชื่อว่า นอกจากเป็นลักษณะที่ส่งเสริมให้ควายดูงามแล้ว ยังถือเป็นลักษณะมงคล โดยปราชญ์ชาวบ้านระบุว่าถ้าเป็นควายไทยต้องปรากฏลักษณะนี้เด่นชัด จากตำแหน่งและจำนวนของบั้งคอยังสามารถจำแนกระดับชั้นความงามได้เป็น 3 ระดับ คือ ควายสามอ้องหรือควายสามบั้ง มีตำแหน่งของบั้งคออยู่ใต้คอหอย 1 บั้ง และต่ำลงไปบริเวณเหนืออก 2 บั้ง รวมเป็น 3 บั้ง ซึ่งถ้าประกอบด้วยลักษณะอื่น เช่น หน้าตา ท่าทาง รูปร่างทั่วไปฯ ที่ได้ลักษณะครบถ้วนก็จะถือว่าเป็นควายงามในระดับมาก รองลงมาคือ ควายสองอ้องหรือควายสองบั้ง ตำแหน่งของบั้งคออยู่ใต้คอหอย 1 บั้ง และบริเวณเหนืออก 1 บั้ง ซึ่งถ้าประกอบด้วยลักษณะอื่นๆ ครบถ้วนก็จัดว่าเป็นควายงามเช่นเดียวกัน ซึ่งลักษณะควายทั้งสองประเภทนี้ค่อนข้างหายาก ส่วนใหญ่จะอยู่ในมือเกษตรกรที่นิยมเลี้ยงควายงามซึ่งมักมีราคาสูงกว่าควายที่เลี้ยงทั่วไป และสำหรับควายที่เลี้ยงโดยเกษตรกรรายย่อยอื่นๆ ซึ่งเป็นควายส่วนใหญ่ของประเทศ จะมีลักษณะของบั้งคอไม่ชัดจนและมักจะมีเพียง 1 บั้งที่พอมองเห็น จึงเรียก ควายหนึ่งอ้องหรือควายหนึ่งบั้ง ซึ่งไม่จัดเป็นควายงาม ปราชญ์ชาวบ้านมีความเห็นว่าควายไทย จะต้องปรากฏลักษณะบั้งคอทุกตัว แต่บางตัวอาจมองเห็นไม่ชัดเจนถ้าไม่สังเกตให้ดี ซึ่งทำให้ไม่มีจุดเด่น


1.2 จุดขนสีขาวบริเวณใบหน้า ลักษณะเป็นจุดขนสีขาวบนใบหน้าของควาย (ภาพที่ 2) เป็นการส่งเสริมให้หน้าตาของควายไทยดูเด่น มีจุดดึงดูดสายตา โดยปกติจะพบจุดขนสีขาวบนส่วนของใบหน้า รวม 7 จุด คือ

1) บริเวณเหนือหัวตา นิยมเรียกจุดนี้ว่ากะบี้จับตา หรือกะพี้จับตา จะต้องมีขนสีขาวเด่นชัด ขนาดและตำแหน่งเหมือนกันทั้งสองข้าง รวมเป็น 2 จุด

2) บริเวณแก้มด้านซ้ายและขวา รวม 2 จุด ซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งประมาณจุดตัดของเส้นตรงที่ลากจากตาของควายลงมาในแนวดิ่งตัดกับสายสะพาย ซึ่งทั้งสองข้างจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน

3) บริเวณกรามล่างด้านซ้ายและขวา รวม 2 จุด และในแนวเดียวกันนี้มีจุดขนสีขาวอีก 1 จุด อยู่ใต้คางในตำแหน่งที่ตรงกัน โดยมีลักษณะเหมือนเม็ดไฝขนาดใหญ่และมีขนยาวเหมือนเคราผู้ชาย ซึ่งเม็ดไฝนี้จะพบในควายไทยทุกตัว รวมทั้งหมดเป็น 3 จุดด้วยกัน

ปราชญ์ชาวบ้าน ระบุว่าถ้าเป็นควายที่ถือว่างาม จะต้องมีจุดขาวนี้ชัดเจนบนใบหน้า มีขนาดเท่ากันและอยู่ในตำแหน่งที่ตรงกัน จึงจะทำให้ใบหน้าดูเด่นสะดุดตา ส่วนควายที่งามรองลงมา และควายทั่วๆไป จะมีจุดขาวเฉพาะบางตำแหน่ง ขนาดเล็ก และสีขาวไม่ค่อยเด่นชัด ซึ่งควายที่มีจุดขาวบนใบหน้านี้ คำพูดที่เป็นภาษาปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จะเรียกลักษณะนี้ว่า ตาแต้ม แก้มจ้ำ

1.3 ข้อเท้าขาว ข้อเท้าหรือแข้งจะปรากฏเป็นขนสีขาวตั้งแต่ช่วงข้อต่อจากเล็บขึ้นมาถึงหัวเข่าทั้งขาหน้า และขาหลัง มองดูเหมือนการสวมถุงเท้าสีขาว (ภาพที่ 3 ) โดยจะมีสีดำขีดขวางตรงตำแหน่งข้อกีบ ควายงามมักจะเห็นถุงเท้าสีขาวชัดเจน ทั้งขาหน้าและขาหลัง และมีขนสีดำตรงข้อต่อกีบชัดเจน ส่วนควายควายทั่วๆ ไป มักพบสีขาวของข้อเท้าไม่ชัดเจน โดยเฉพาะควายลูกผสมที่มีสายเลือดของควายนมหรือควายมูร่าห์ สีขนบริเวณของข้อขานี้จะออกเป็นสีเทาอมดำ แตกต่างกับควายไทยอย่างชัดเจน (ปราชญ์: นครพนม)

1.4 สีหนังและขน ลักษณะสีของควายจะเป็นสีผสมของหนังและขน และเนื่องจากควายไทยโดยปกติขนไม่ดกหนามาก เหมือนควายพันธุ์นมหรือควายมูราห์ สีที่เห็นจึงเป็นสีของหนังเป็นส่วนใหญ่ โดยสีของควายอาจแตกต่างกันได้ จากแหล่งน้ำที่เลี้ยง สีของดินที่ควายทำปลัก ความสมบูรณ์ร่างกาย รวมถึงช่วงอายุต่างฯ สีขนของควายไทย ตอนอายุยังน้อยส่วนใหญ่จะเป็นสีเทาขาว หรือเทาทอง และเมื่ออายุมากขึ้นส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเป็นสีดำเข้มขึ้น สีเทาหรือสีเลา หรือเป็นสีเทาแดง(สีเปลือกเมล็ดมะขาม) สีของควายที่นิยมว่าเป็นควายงาม สำหรับแม่พันธุ์ จะมีสีเทาถึงเทาดำ ไม่ดำเข้มเท่าเพศผู้ ส่วนพ่อพันธุ์ จะมีสีเทาแดง หรือเทาดำ สีขนจะเป็นสีดำ หรือแดงเหมือนสีของเปลือกเมล็ดมะขาม และปราชญ์ให้ความเห็นว่าถ้าพบควายที่มีหนังและขนสีดำเข้ม และขนดกยาวกว่าควายทั่วไป แสดงว่าอาจมีสายเลือดควายมูร่าห์ผสมอยู่